ปัจจุบันเรามีผู้ใช้งานมากกว่า 997 คน และมีรายการทรัพย์ที่ลงประกาศให้คุณได้เลือกสรร 4,091 รายการ

10 จุดจับไต๋ผู้รับเหมาไม่ดี (1)

บทความ

01 ม.ค. 2563 12:29 น.|อ่านแล้ว 484

10 จุดจับไต๋ผู้รับเหมาไม่ดี (1)
10 จุดจับไต๋ผู้รับเหมาไม่ดี (1)

คงเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับเจ้าของบ้านผู้โชคร้ายที่ไปพบ ผู้รับเหมา ที่ไม่ซื่อตรง และไม่มีความรับผิดชอบ
ผู้รับเหมา เหล่านี้นอกจากจะสร้างความเสียหายให้วงการงานรับเหมาก่อสร้างแล้ว ยังสร้างภาระและความสูญเสียให้กับเจ้าของบ้านที่ต้องตามสะสางแก้ไขงานที่ผู้รับเหมาทำหมกเม็ดเอาไว้
 
นอกจากนี้ยังอาจเกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องโดยที่เจ้าของบ้านคาดไม่ถึง เรามีจุดสังเกตให้คุณผู้อ่านทั้งหลายที่กำลังคิดจะทำบ้านหรือปรับปรุงบ้านได้รู้ไว้ เผื่อเอาไปประยุกต์ใช้ได้
 
เม็ดที่ 1
เริ่มจากงานเอกสารสัญญาที่ส่อเจตนาทุจริต อาทิ แผนการเบิกเงินในแต่ละงวดมีจำนวนสูงกว่าปริมาณงานที่ทำจริงอยู่มาก  เพราะเมื่อผู้รับเหมาที่เจตนาไม่ดีเหล่านี้สบโอกาสเบิกเงินได้จนเป็นที่พอใจแล้ว ก็มักจะละทิ้งงานไปเฉยๆ  ดังนั้นเจ้าของบ้านควรตรวจสอบสัดส่วนของเงินแต่ละงวดในเอกสารสัญญาให้ถี่ถ้วนด้วย
 
เม็ดที่ 2
สำหรับงานก่อสร้างบนที่ดินว่างเปล่าหลายๆแปลง มักเริ่มด้วยการถมดิน ดินที่เหมาะกับงานถมต้องเป็นดินเหนียวซึ่งจะถมในชั้นแรก  ตามด้วยการถมหน้าดินในระดับ 1-2 เมตร เพื่อให้ปลูกต้นไม้หรือหญ้าได้  ในขั้นตอนนี้ผู้รับเหมาที่ชอบซิกแซ็กมักจะหาเศษวัสดุ อิฐหัก และขี้ปูนมาถมเป็นชั้นแรกแทนดินเหนียว  ผลที่ตามมาคือการทรุดตัวของผิวดิน และสิ่งก่อสร้างที่วางบนดิน   เช่น  พื้นโรงรถ  ภายหลังเมื่ออยู่อาศัยไปได้ประมาณ 1 ปี
 
 
เม็ดที่ 3
สิ่งสำคัญอันดับแรกๆของการก่อสร้างคือ  การตอกเสาเข็ม  เพราะเป็นส่วนของฐานรากที่หยั่งลึกลงไปในดิน  หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็ยากที่จะสืบค้นและซ่อมแซม   ดังนั้นขณะที่ตอกเสาเข็มจึงจำเป็นต้องมีโฟร์แมนควบคุมงาน และทำบันทึกผลการตอกเสาเข็มด้วยข้อมูลจริง   ผู้รับเหมาที่ละเลยขั้นตอนนี้ แล้วเกิดความผิดพลาดขึ้น  จะส่งผลต่อการทรุดตัวของอาคารในระยะยาวอย่างแน่นอน
 
เม็ดที่ 4
งานก่อสร้างชนิดต่อเติมอาคารที่เจ้าของบ้านคิดราคาถูกๆไว้ก่อน ก็อาจจะเจอผู้รับเหมาประเภทฉาบฉวย  ซึ่งใช้วิธีการก่อสร้างแบบผิดๆ เช่น การสร้างส่วนต่อเติมเข้าไปเชื่อมติดกับอาคารเดิมด้วยเสาเข็มสั้น  เมื่อเกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างอาคารเดิมกับส่วนที่ต่อเติมในภายหลัง โครงสร้างเก่าและโครงสร้างใหม่ก็จะเกิดการแยกตัว  การทรุดตัวก็เป็นอีกเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร  แต่ถ้าสร้างให้ถูกวิธีก็สามารถลดความรุนแรง หรือเมื่อทรุดแล้วไม่ทำให้บ้านเสียหายมาก ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้คำนวณความยาวและจำนวนของเสาเข็มที่ควรใช้  ขณะที่สถาปนิกจะออกแบบจุดเชื่อมต่อที่ไม่ติดตาย เคลื่อนตัวได้เล็กน้อย และกันน้ำได้
 
เม็ดที่  5 
ในงานโครงสร้างเหล็กก็เช่นกัน ผู้รับเหมาที่เจตนาไม่ดีมักหาช่องทางในการลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพของเหล็ก  เช่น  เหล็กเส้นก็เลือกเหล็กไม่เต็มขนาด   เหล็กกล่องสี่เหลี่ยมก็เลือกใช้ชนิดบางแทนชนิดหนา  การหักลดค่าใช้จ่ายเช่นนี้จะส่งผลถึงคุณภาพในการรับน้ำหนักด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งเราอาจมองไม่ออก  เจ้าของบ้านจึงควรให้มืออาชีพเข้ามาควบคุมดูแลการเลือกใช้วัสดุอย่างใกล้ชิด การว่าจ้างสถาปนิก ผู้ออกแบบ หรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้มาคุมงานก่อสร้างจึงเป็นเรื่องที่ควรทำและคุ้มค่ามากๆ

                                                              ขอบคุณข้อมูลจาก www.baanlaesuan.com ภาพจาก pixabay.com